Home

 ปารีสที่คุ้นเคย

 โฉมหน้าใหม่ของ
 ปารีส

 สถานที่สำคัญทาง
 ประวิติศาสตร

 สถานที่สำคัญทาง
 ศาสนา

 ปราสาทและ
 พิพิธภัณฑ

 Les Questions


PARIS - DIVERSITÉ

ปราสาทและพิพิธภัณฑ์

[ ปราสาท I พิพิธภัณฑ์ ]

ปราสาท (Châteaux)

          ปราสาทจะบอกให้เราทราบถึงความรุ่งเรืองมั่นคงของลัทธิฟิวดัลหรือลัทธิเจ้าขุนมูลนาย (la féodalité) ในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับโบสถ์โรมันและโบสถ์โกธิคที่สวยงามที่มีมากมายทั่วประเทศฝรั่งเศส ปราสาทที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของฝรั่งเศสที่จะพูดถึงแบ่งออกเป็น

          1. Les Châteaux de Versailles (พระราชวังแวร์ซาย) พระราชวังแห่งนี้เป็นพระราชวังที่ให้ภาพพจน์ที่สมบูรณ์แบบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช พระราชวังแวร์ซายอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงปารีส ห่างจากกรุงปารีสเพียง 23 กิโลเมตร แต่เดิมเป็นหมู่บ้านชาวนา พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ซึ่งโปรดการล่าสัตว์มาก เลือกหมู่บ้าน ชาวนาแห่งนี้เป็นที่นัดพบในการล่าสัตว์ ในปี ค.ศ. 1624 ได้โปรดให้สร้าง Pavillon de chasse ขึ้น ต่อมาได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมทีละเล็กทีละน้อย ต่อมาเมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ขึ้นครองราชย์สมบัติโปรดที่จะสร้างพระราชวังนอกกรุงปารีส หมู่บ้านชาวนาซึ่งมี Pavillon de chasse ในสมัยพระบิดากลายเป็นพระราชวังที่สวยงาม Le Vau เป็นผู้จัดแบบแปลนพระราชวัง Jules Hardouin-Mansart ได้ทำงานต่อมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1769 ฝีมือ Le Brun ในการตกแต่งภายในทำให้พระราชวังแวร์ซายเป็นศิลปะฝรั่งเศสชิ้นสำคัญ สวนซึ่งอยู่ด้านหลังออกแบบประดับประดาโดย Le Notre พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดให้ทำที่ที่เป็นหนองน้ำให้ถูกสุขลักษณะ ให้มีที่เก็บน้ำที่จะใช้สำหรับน้ำพุธรรมชาติ ได้มีงานฉลองกันครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1663 ก่อนที่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะเสด็จไปประทับเสียอีก พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และข้าราชบริพารได้เข้าไปประทับในพระราชวังในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1682 ขณะนั้นการก่อสร้างยังไม่เสร็จเนื่องจากการก่อสร้างใหญ่โตมาก ต้องใช้คนงานถึง 35000 คน เพื่อทำคอกสัตว์ สวนส้ม ขุดเนินเขาให้ราบเพื่อให้คลองขนาดใหญ่ไหลผ่านไปได้ ต้นไม้ดอกไม้เป็นพันๆ ต้นถูกนำไปปลูกสวนราวเนรมิต ในตอนต้นศตวรรษที่ 18 พระราชวังแวร์ซายเป็นเสมือนวัดที่ขุนนางนับหมื่นไปบูชาพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ดุจดวงอาทิตย

          พระราชวังแวร์ซายเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงพระราชอำนาจและความเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (I’egocentrisme) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือ Le Roi-Soleil ในสมัยนั้นพระราชวังแวร์ซายเหมือนเมืองหลวงของประเทศ ข้าราชบริพารคนสำคัญๆ จะต้องอยู่ใกล้ๆ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีจุด มุ่งหมายจะได้ประทับใกล้ชิดกับข้าราชบริพารในราชสำนักให้บ่อยครั้งที่ตลอดทั้งวันเวลาตื่นบรรทม เสวยพระกระยาหาร และเสด็จพระราชดำเนินสำราญอิริยาบถ ต้องมีข้าราชบริพารห้อมล้อมมากมาย ดังนั้นในพระราชวังจะมีห้องนอนนับร้อยๆห้อง ข้าราชการถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์เหมือนทรงเป็นพระเจ้าเนื่องจากข้าราชการ รัฐมนตรีต้องเข้าเฝ้าเสมอ ถึงกับทรงตั้งชื่อลานใหญ่ในพระราชวังว่า “Cour des Ministres” (ลานคณะรัฐมนตรี) เพราะคณะรัฐมนตรีในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำงานอยู่ที่ปีกทั้งสองข้างที่อยู่รมถนนของลานใหญ่นั้น

          พระราชวังแวร์ซายรุ่งเรืองที่สุดในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพราะแม้พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ที่เสด็จไปประทับที่พระราชวังว์ซายก็ประทับในห้องชุดเล็กมีเฉพาะผู้ใกล้ชิดเท่านั้น พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และพระนางมารีอังตัวแนตไม่โปรดพระราชวังแวร์ซาย พระนางมารีอังตัวแนตโปรด Petit Trianon พระราชวังในสวน แต่เสด็จไปประทับที่ Petit Trianon ไม่นานก็เกิดปฏิวัติใหญ่ขึ้นในปี ค.ศ.1789 หลังการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่16 และพระนางมารีอังตัวแนต ผู้ปฏิวัติทำลายพระราชวังแวร์ซายยับเยิน จักรพรรดินโปเลียนและจักรพรรดิโจเซฟิน ประทับที่ Grand Trianon ต่อมาพระเจ้าหลุยส์ ฟิลลิปได้ใช้ราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการบูรณะและการอนุรักษ์พระราชวังแวร์ซายให้เป็นพิพิธพัณฑ์ พระราชวังแวร์ซายเปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์ ที่เต็มไปด้วยภาพเขียน ภาพแกะสลักที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส พระราชวังแวร์ซายตามตัวเลข ด้านหน้าที่หันสู่สวนทั้งหมด ยาว 670 เมตร Galerie des Glaces ยาว 73 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 13 เมตร พื้นที่หลังคาทั้งหมด 11 เฮคตาร์ ด้านหน้าของ Grand Trianon ยาว 120เมตร ห้องต่างๆ ในสมัย Ancien Regime มี 1300 ห้อง (ปัจจุบัน 500 ห้อง) ปล่องไฟ 1250 แห่ง บันได 67 แห่ง หน้าต่าง 2140 บาน เนื้อที่สวนของพระราชวัง 95 เฮคตาร์ น้ำพุ 1400 แห่ง (ปัจจุบันมี 610 แห่ง) Grand Canal ยาว 1650 เมตร กว้าง 62 เมตร ความกว้างโดยรอบ 5.6 กม. กินเนื้อที่ 24 เฮคตาร์ เนื้อที่ของป่าที่ใช้ล่าสัตว์ 56000 เฮคตาร์ ความยาวโดยรอบ 43 กม. เนื้อที่ทั้งหมดในเขตพระราชวังแวร์ซาย 85000 เฮคตาร์ ต้นส้ม 3000 ต้นที่ปลูกในสวนส้ม ม้า 2500 ตัว และรถ 200 คัน ที่สามารถเข้าไปในโรงม้าถนนแต่ละสายในบรรดาถนน 3 สายที่ตรงมาสู่ลานด้านหน้าเป็นถนนที่กว้างใหญ่กว่าถนน Champs-Elysées (กว้าง 66 เมตร) ถนน De Paris กว้าง 122 เมตร ถนน De Saint-Cloud กว้าง 95เมตร De Sceaux กว้าง 84 เมตร รูปปั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เด่นสง่าเมื่อผ่านประตูพระราชวังเข้าไปใน Grands Appartements มีห้องมากมาย ห้องที่สวยงามมากใน Grands Appartements คือ Salod d’Apollon หรือ Salle du Trone มีบัลลังก์เงินสูงประมาณ 3 เมตร ตั้งอยู่ใต้เศวตฉัตร ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในเวลาเสด็จออกรับราชทูตต่างประเทศ

          Galerie des Glaces มี Salon de la Guerre และ Salon de la Paix ขนาบอยู่ใน Salon de la Guerre มีภาพวาดบนเพดานที่แสดงแสนยานุภาพทางทหารของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โดย Hardourn-Mansart ภาพวาดแกะสลักนูนต่ำเป็นผลงานของ Coysevox Mansartสร้างGalerie des Glaces ในปีค.ศ.1678 ห้องกว้าง 10 เมตร ยาว 75 เมตร มีหน้าต่างขนาดใหญ่ 17 บาน ด้านตรงข้ามคือกำแพงซึ่งประกอบด้วยกระจก 400 บาน เมื่อแสงแดดส่องเข้าไปในห้องนั้น ทำให้ห้องสวยงามราวกับเทพนิยาย Galerie des Glaces มีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 16 มกราคม ปี ค.ศ.1871 พระเจ้ากิโยมที่ 1 สวมมงกุฎเป็นจักพรรดิแห่งเยอรมนี และเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ป ีค.ศ.1919 ฝ่ายสัมพันธมิตรบังคับให้เยอรมนีเซ็นสัญญาสงบศึก ณ Galerie des Glaces นี้

          ใน Appartements du Roi et de la Reine นอกจาก La Chambre du roi (ห้องบรรทมของพระเจ้าแผ่นดิน) La chambre de la Reine (ห้องบรรทมของพระราชินี) แล้วห้องที่น่าสนใจมากคือ Le Musée du Chateau de Versailles (พิพิธภัณฑ์ของช่วงประวัติศาสตร์ช่วงศตวรรษที่ 17-18 ของฝรั่งเศส มีรูปเขียน รูปปั้นของราชวงศ์ ภาพเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญใน รัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 และ 14) Opéra Royal ทำด้วยไม้ทั้งหมด มีเสียงก้องกังวาน Gabriel เป็นสถาปนิกในการสร้าง Opéra Royal สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1770 ที่ประทับพระมหากษัตริย์ ปิดไว้ด้วยลูกกรงสีทองเพดาน Durameau เป็นรูปเทพเจ้าอพอลโลสวมมงกุฎให้ศิลปิน Pajou เป็นผู้แกะสลักภาพนูนต่ำที่เผาไฟ

          La Chapelle du Châteaux (โบสถ์ของพระราชวัง) เป็นห้องที่สวยงามอีกห้อง Pajou แกะสลักภาพนูนต่ำที่เตาไฟ Coustou แกะสลักภาพนูนต่ำ พระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จไปประทับที่พระราชวังแวร์ซาย จะทรงไปเสด็จสวดมนต์ที่ Chapelle ทุกวัน สวนของพระราชวังแวร์ซาย ที่ออกแบบโดย Le Notre มีความงดงามมากสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นสวนที่จัดโดยนักจัดสวนอัจฉริยะ และน้ำพุที่ทำให้สวนของพระราชวังแวร์ซาย สมบูรณ์คือ Bassin d’Apollon, Bassin de l’Obélisque เป็นรูปร่างยักษ์ Encelade ที่ฝังไว้ใต้โขดหิน Bassin de Latone (Latone มารดาของเทพเจ้าอพอลโล) นอกจากอ่างน้ำพุแล้วยังมีบ่อน้ำเตี้ยทางเหนือ (Parterre d’Eau du Nord) และบ่อน้ำเตี้ยทางใต้ (Parterre du Midi) นอกจากรูปปั้นดอกไม้ ต้นไม้แล้ว ยังมีสิ่งสวยงามที่สุดของ พระราชวังแวร์ซายคือ les jets d’eau ปราสาทอีกสองหลังในพระราชวังแวร์ซายคือ Le Grand Trianon ในปี ค.ศ.1687 Mansart ได้สร้างปราสาท Le Grand Trianon ปราสาทนี้ไม่สวยนัก แต่เป็นที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสหลายองค์ เช่นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และ Madame de Mintenon พระเจ้าหลุยส์ที่ 15 กับ Madame de Pompadour พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระนาง Marie Antoinette และจักพรรดินโปเลียน

          สถาปนิก Gabriel สร้าง Le Petit Trianon ตามประสงค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบของเค้าท์เดสตูบารี (comtesse du Barry) ซึ่งเป็นเค้าท์เตสคนโปรดของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พอถึงสมัยพระเจาหลุยส์ที่ 16 Le Petit Trianon เป็นที่โปรดปรานของพระนางมารีอังตัวแนตเช่นกัน

          พระราชวังแวร์ซายในปัจจุบันนี้ ได้เป็นพิพิธภัณฑ์ ที่มีค่ายิ่งของชาวฝรั่งเศส พระราชวังแวร์ซายทำให้เราเห็นความยิ่งใหญ่พระเจ้าแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ในปี ค.ศ.1789 นั้น นักปฏิวัติ เกลียดพระราชวังแวร์ซายมาก เพราะที่นั่นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะทรง ล้อมรอบด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่ รัฐมนตรีและข้าราชการ ตอนค่ำทรงจัดให้ล่าสัตว์ ที่พระราชวังแวร์ซายมีแต่สิ่งสวยงามหรูหรา แต่ประชาชนต้องเสียภาษีให้กับความฟุ่มเฟือยนี้ และภาษีที่เคยเสียก็มากขึ้นทุกที

          2. Châteaux de Malmaison (ปราสาทมอลเมชอง) ปราสาทหลังนี้อยู่ในเขตบริหาร Nanterre (นองแตร์) เดิมเป็นบ้านคนชั้นกลางในสมัย Ancien Regimeในปี ค.ศ.1799 ได้ชื่อว่าปราสาท Rueil-Malmaison เพราะ Joséphine de Beauharnais ปราสาทและพิพิธภัณฑ์นี้ นโปเลียนที่ 1 จะไปประทับในวันสุดสัปดาห์ ได้มีการตกแต่งปราสาทโดยศิลปินในสมัยนั้น ห้องที่สวยงามมากของปราสาทมอลเมชองคือห้องดนตรี ห้องบรรทมของพระเจ้านโปเลียนที่ 1 และห้องบรรทมของจักพรรดินี ห้องรับรองแขก (le salon de réception) สวยงามด้วยภาพเขียนโดย Percier และ Fontaine บนเพดานทองและสีขาว เพดานห้องทรงงานซึ่งมีห้องสมุดอยู่ในนั้นสวยงามด้วยภาพเขียนตามผนัง (fresques) นอกจากนั้นยังมีงานไม้ (boiseries) ตู้หนังสือ โต๊ะทำงาน โซฟา และเก้าอี้ฝีมือเยี่ยมของ Frère Jacob

          3. Château de Fontainbleau ( ปราสาทฟองแตนโบล ) ปราสาทฟองแตนโบลสร้างโดยพระเจ้าฟรองซัวที่ 1 โดยสถาปนิก Gille Le Breton และ Serlion Delorme ส่วนผู้ตกแต่ง คือ Le Rosse และ le Primatice เดิมสนามของปราสาทหลังนี้เป็นรูปไข่ พระเจ้าฟรองซัวที่ 1 โปรดให้ Gille Le Breton ดัดแปลงสวน Serlion นั้นได้ฝากฝีมือในการสร้างประตูที่สวยงามประดับประดาด้วยไม้แกะสลัก ภาพเขียนตามฝาผนัง Le Breton สร้างประตูใหม่ที่เรียกว่า la porte Dorée แทนประตูเก่า ห้องพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 ใช้เป็นห้องเต้นรำ ( une salle de balle ) ในสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 ได้โปรดให้สร้างโบสถ์แซงต์ทรินิเต้ ( La chapelle de la Sainte - Trinité ) พระนาง Catherine de Medicis สร้างสวนดิอาน (le jardin de Diane) ต่อมาพระเจ้าชาร์ลที่ 4 โปรดให้ Gabriel สร้างปีกด้านใต้ พระเจ้านโปเลียนที่ 1 โปรดให้สร้างห้องชุดของพระองค์เอง ปราสาทฟองแตนโบลมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มาก ในห้องรับแขกแดง (le salon rouge) เป็นห้องที่พระเจ้านโปเลียนสละราชบัลลังก์ ( cabinet de l’abdication ) ในห้องนี้มีรูปปั้นเฉพาะท่อนอกขึ้นไปของจักรพรรดิ Canova เครื่องแต่งห้องฝีมือ Jacob และ Marcion พระเจ้านโปเลียนทรงเซ็นสละราชสมบัติบนโต๊ะกลมขาเดียวทำด้วยไม้อกาจู ( acajou ) ในห้องรับแขกแดง เมื่อวันที่ 6 เมษายน ปีค.ศ. 1814

พิพิธภัณฑ์

          พระราชวังและโบสถ์มีความสำคัญสำหรับชาติและศาสนามากเพียงใด พิพิธภัณฑ์ก็มีความสำคัญสำหรับชาติมากเพียงนั้นเพราะพิพิธภัณฑ์จะบอกถึงความเป็นมาในอดีตของชาตินั้น พิพิธภัณฑ์ทำให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบบทบาทของชาติและบทบาทของบรรพบุรุษในชาติ ฝรั่งเศสมีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ( les musées nationaux ) 3 แห่ง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอีก 30 แห่ง พิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นเหล่านี้อยู่ในความดูแลของรัฐ พิพิธภัณฑ์ในชนบทที่มีสิ่งของที่มีคุณค่า ( de riches collections ) ทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมีหลายแห่ง คือ พิพิธภัณฑ์ที่เมือง Lille , Nantes , Montpellier , Dijon , Grenogle , Nancy , Rouen , Clomar , Albi และ Le Havre

          พิพิธภัณฑ์ศิลปะเฉพาะเรื่อง ในกรุงปารีสมีพิพิธภัณฑ์ที่แสดงศิลปะเฉพาะเรื่อง (les musées spécialisés) ดังนี้

          Musée de Guimet พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ชื่อตาม Emile Guimet ชาวเมือง Lyon Guimet สะสมงานศิลปะจากตะวันออกไกลมากมาย ในปี ค.ศ. 1879 เขาได้ตั้งพิพิธภัณฑ์ที่เมือง Lyon ต่อมาในปี ค.ศ. 1884 ได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงปารีส ในปี ค.ศ. 1945 พิพิธภัณฑ์กีเมได้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ Louvre แสดงผลงานศิลปะจากเอเชีย ( Les départements des arts asiatiques )

          Musée de Saint-Germain-en Laye (พิพิธภัณฑ์แซงแจร์แมง อองเลย์) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีศิลปะสมัยโบราณ มีศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ (antiquité gollo-romaines) อยู่ในปราสาทแซงแจร์แมงอองเลย์ ซึ่งเป็นปราสาทชานกรุงปารีส

          Musée du Jeu de Paume (พิพิธภัณฑ์ดูเจอเดอโปม) เป็นพิพิธภัณฑ์แสดงภาพเขียนสมัย Impressionnisme อยู่ในสวน Tuilerie พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ Louvre เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงภาพเขียน impressionistes

          พิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส Musée du Louvre (พิพิธภัณฑ์ลูฟเวรอะ) Louvre เป็นพระราชวังที่เก่าแก่และเป็น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่มีชื่อเสียงมากที่สุด พระราชวังแห่งนี้เริ่มสร้างในสมัยพระเจ้า Philipe Auguste ในปี ค.ศ. 1204 ได้มีการสร้างเพิ่มในสมัยพระเจ้าชาร์ลที่ 5 พระเจ้าฟรองซัวที่ 1 พระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 พระเจ้าหลุยส์ที่ 13 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และสร้างเรียบร้อยในสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ 3 สถาปนิกที่สร้างพระราชวัง Louvre คือ P.Lescot , Androuet Du Cerceau , Lemercie , Le Vau Claude Perrault , Percier , Fontaine , Visconti , Lefuel และ Jean Goujon

          พระราชวัง Louvre เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติในปี ค.ศ. 1791 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมสิ่งมีค่าหลายยุคหลายสมัย มีผลงานชั้นยอดจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พระเจ้า François ที่1 ทรงให้มีการเก็บสะสมภาพจิตรกรรมของศิลปินฝีมือเยี่ยมไว้มากมาย พิพิธภัณฑ์ Louvre มีห้องแสดงภาพเขียน ( galeries ) ถึง 225 ห้อง มีภาพเขียน ( peintures ) ทั้งหมดประมาณ 6,000 ภาพ งานแกะสลัก ( sculptures ) ประมาณ 2,250 ชิ้นงานแกะสลักที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในจำนวน 2,250 ชิ้นคือ la Vénus de Milo เป็นศิลปะกรีกสมัยศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสต์ศักราช la Vénus de Milo ค้นพบในปี ค.ศ. 1820 ที่เกาะ Milo ในทะเล Egée ประเทศกรีซ

          พิพิธภัณฑ์ Louvre นั้น อาจจะกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นทั้งจากเจ้านายและราชนิกูล เพราะ งานศิลปะชิ้นแรกๆนั้นเป็นสมบัติส่วนพระองค์ของเจ้านายหรือพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พิพิธภัณฑ์ Louvre มีสิ่งของมีค่าซึ่งหาไม่ได้จากที่อื่น นอกจากนี้ยังมีสิ่งของที่ได้จากการซื้ออีกมากมาย ในศตวรรษที่แล้วพิพิธภัณฑ์ Louvre ได้ซื้อภาพเขียนเป็นพันๆรูปจึงทำให้พิพิธภัณฑ์ Louvre มีภาพเขียนมากพิพิธภัณฑ์หนึ่งในโลก ในปี ค.ศ. 1981 ประธานาธิบดี François Mitterand ได้อนุมัติให้สร้างปิรามิดแก้วขึ้นการก่อสร้างต้องใช้งบประมาณถึง 50 ล้านฟรังค์ แต่เมื่อสร้างจริงๆแล้วเฉพาะค่าก่อสร้างปิรามิดต้องใช้เงินถึง 75 ล้านฟรังค์ เมื่อรวมค่าก่อสร้างลานรอบปิรามิด น้ำพุและบริเวณใต้ดินต้องใช้เงินถึง 2,000 ล้านฟรังค์ การก่อสร้างใช้เวลานานถึง 14 ปี เพราะสิ้นสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1995

          ถวัลย์ มาศจรัส ได้กล่าวถึงสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ปลายศตวรรษที่ 20 ว่า “ปิรามิดแก้วเด่นเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางลานกว้างชื่อว่า Cour Napoléon สถาปนิกผู้สร้างสรรค์ได้แก่นาย EEOH MINGPEL ชาวอเมริกัน เขาใช้คอมพิวเตอร์คำนวณหาจุดเชื่อมทั้งหมด 150,000 จุด ใช้เวลาออกแบบการก่อสร้างนาน 3 ปี มีปิรามิดขนาดใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง มีขนาดสูง 2106 เมตร ฐานกว้าง 35 เมตร ใช้แผ่นกระจกทรงข้าวหลามตัดขนาด 3 x 1.90 เมตร จำนวน 612 แผ่น กระจกแต่ละแผ่นหนักประมาณ 150 กิโลกรัม น้ำหนักเฉพาะกระจกรวมทั้งสิ้น 86 ตัน น้ำหนักรวมของปิรามิด 180 ตัน จำนวนดวงไฟที่ส่องภายในปิรามิดมากถึง 996 ดวง ครอบคลุมเนื้อที่บนลานกว้าง 1.25 เมตร รอบๆปิรามิดใหญ่จะมีปิรามิดเล็กๆอยู่ 3 อัน แต่ละอันมีขนาดความสูง 5 เมตร ฐานกว้าง 8 เมตร